กินอะไรเสี่ยงโรคไต? จัดอันดับ อาหารที่มีโซเดียมสูงควรหลีกเลี่ยง อร่อยปาก ลำบากไต

ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกอวัยวะหนึ่งภายในร่างกาย โดยที่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ เราอาจจะเปรียบเทียบการทำงานของไตได้ว่า เป็นประหนึ่ง ‘เครื่องกรองน้ำ’ ให้กับร่างกายนั่นเอง และเมื่อพูดถึง ‘โรคไต’ แล้ว หลายๆ คนยังคงมีความเข้าใจผิด คิดไปว่าคนที่จะป่วยเป็นโรคไตได้จะต้องเป็นคนที่กินเค็มเป็นนิสัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จริงยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่กระตุ้นให้เกิดโรคไตได้ อาทิ ป่วยเป็นโรคที่มีผลกระทบกับไต (เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคอ้วน, โรคเก๊าท์, โรคแพ้ภูมิตนเอง) การสูบบุหรี่เรื้อรัง การมีภาวะไตผิดปกติ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายครั้ง การมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต การได้รับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นประจำ การดื่มน้ำน้อย แล้วก็การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำ UndubZapp จึงจะพาทุกๆ ท่านไปดูกันว่า กินอะไรเสี่ยงโรคไตบ้าง? ผ่านรายการจัดอันดับ อาหารที่มีโซเดียมสูงที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะอร่อยปาก แต่จะลำบากไตแน่นอน อนึ่ง สำหรับผู้ป่วยโรคไตทุกๆ ระยะ ควรรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2-3 กรัม/วัน ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องปรุงประเภท Low Sodium เนื่องด้วยจะทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุชนิดอื่นๆ ที่เป็นภาระต่อไตแทน เช่น แร่ธาตุโพแทสเซียม เป็นต้น

อาหารที่มีโซเดียมสูง อันดับ 5 🪽 ขนมขบเคี้ยว

ปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวโดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 100 มิลลิกรัม – 250 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ขนมขบเคี้ยวควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบ, ข้าวโพดอบกรอบ, ธัญพืชอบกรอบ, อาหารเช้าซีเรียลพร้อมทาน ควรจะรับประทานแต่น้อย และหมั่นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารที่มีโซเดียมสูงทำให้ไตทำงานหนัก ควรลด ละ เลิกการทานตามที่เห็นสมควร

อาหารที่มีโซเดียมสูง อันดับ 4 🪽 อาหารหมักดอง

ปริมาณโซเดียมในอาหารหมักดองโดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 75 มิลลิกรัม – 300 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค อาหารหมักดองที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ผักกาดดอง, หัวผักกาดดอง, กระเทียมดอง, ขิงดอง, หน่อไม้ดอง, มะนาวดอง, ผลไม้ดอง, ผักเสี้ยนดอง, เต้าเจี้ยว, เต้าหู้ยี้, ตั้งฉ่าย, ถั่วเน่า เป็นต้น วันไหนอยากรับประทานอาหารหมักดอง ก็ควรลดการทานอาหารอื่นๆ ที่มีโซเดียมสูงๆ

อาหารที่มีโซเดียมสูง อันดับ 3 🪽 เครื่องปรุงรส

Advertisements

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสโดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 150 มิลลิกรัม – 900 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของเครื่องปรุงรสนั้นๆ เครื่องปรุงรสที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เกลือ, ซีอิ๊ว, น้ำปลา, น้ำมันหอย, น้ำปลาร้า, กะปิ, ซอสพริก, ซอสมะเขือเทศ, น้ำจิ้มไก่, น้ำจิ้มสุกี้, น้ำจิ้มซี​ฟู้ด ฯลฯ ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรจำกัดปริมาณการรับประทานให้พอเหมาะพอดี

อาหารที่มีโซเดียมสูง อันดับ 2 🪽 เนื้อสัตว์แปรรูป

ปริมาณโซเดียมในเนื้อสัตว์แปรรูปโดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 500 มิลลิกรัม – 1,000 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ตัวอย่างเนื้อสัตว์แปรรูปที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ไส้กรอก, แฮม, เบคอน, โบโลน่า, หมูยอ, ไข่เค็ม, เนื้อเค็ม, ปูเค็ม, ปลาเค็ม, ปลาแห้ง, กุ้งแห้ง, ปลาร้าปลาจ่อม, เนื้อสวรรค์, หมูแผ่น ถ้าสามารถปรุงอาหารทานเองได้ ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการแปรรูปมากกว่า

อาหารที่มีโซเดียมสูง อันดับ 1 🪽 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 มิลลิกรัม – 2,000 มิลลิกรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปประเภทอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป, โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป, ซุปสำเร็จรูป แนะนำให้อ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้ตนเองว่า ปริมาณโซเดียมในอาหารที่รับประทานเข้าไปจะไม่เกินกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

©Featured image : Freepik

Advertisements

Advertisements

Advertisements