ออนแอร์ไม่กี่ตอนก็เปรี้ยงแล้ว!! “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” ละครดี ชุบชีวิตภูมิปัญญาไทย

เมื่อพูดถึงละครที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ หลายคนคงจะนึกถึงเรื่อง “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” กันใช่ไหมคะ เพราะด้วยเนื้อหาที่แปลกใหม่ ฉีกกฎละครพีเรียดที่เคยมีมาทั้งหมด และการแสดงสมจริงของนักแสดงทุกคนนั่นเอง ซึ่งนอกจากความสนุกสนานแล้ว เรื่องนี้ยังสอดแทรก “ภูมิปัญญาไทย” ที่หลายคนหลงลืมกันไปแล้วให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่ากันอีกครั้ง วันนี้ผู้เขียนจึงรวบรวมมาให้อ่านกันค่ะ

 

1. การรักษาโรค

แค่เห็นชื่อเรื่องทุกคนคงเดาออกแล้วว่าต้องเกี่ยวกับหมอแน่นอน ในละครจึงมีฉากที่ต้องรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อย่างล่าสุดที่กำลังเป็นกระแสอย่างมาก เมื่อคุณนายสายหยุด (แหม่ม จินตรา) ป่วยเป็นโรคดานลม หรือที่เรียกกันว่าอาการท้องผูก จนต้องตามหมอมารักษาที่บ้าน หมอยาจึงนวดไล่ลมออก และจ่ายยาสมุนไพรรสร้อน เพื่อช่วยกระจายลมในท้อง ซึ่งถ่ายทอดออกมาได้ถูกหลักตามตำราแพทย์แผนไทยเป๊ะๆ

ล่าสุดนายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยังกล่าวชื่นชมและขอบคุณที่นำเสนอภูมิปัญญาไทยให้คนรุ่นหลังเข้าใจอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ยังพูดถึงตำรับยารักษาโรคอื่น ๆ อีก เช่น ขันทองพยาบาท หญ้าหนวดแมวต้ม และยาน้ำมันกุฏฐโรค เพื่อใช้รักษาโรคคุดทะราด โดยละครลงรายละเอียดถึงขั้นบอกส่วนผสมต่าง ๆ ด้วยนะคะ ถือว่าทำการบ้านมาดีมาก ๆ

 

2. ตุ๊กตาน้องรำพึง

ไม่ใช่แค่พระเอก-นางเอกที่ได้รับความสนใจจากผู้ชม นักแสดงอื่น ๆ ก็ยังเป็นที่จับตามองไม่แพ้กัน ไม่เว้นแม้แต่ “น้องรำพึง” ตุ๊กตาลูกตาลที่โผล่มาแค่ไม่กี่ฉาก แต่ด้วยคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจ ผู้ชมเลยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ขนาดที่หลายรายการยังติดต่อผู้กำกับอย่าง “พี่ชุ ชุดาภา” เพื่อเชิญน้องไปออกเลยค่ะ เรียกว่ากลายเป็นตุ๊กตาที่ดังที่สุดในชั่วโมงนี้แล้วค่ะ

Advertisements

ล่าสุดเพจ “เพชรภูมิ ฮอตนิวส์” ได้เผยที่มาของตุ๊กตาตัวนี้ว่าเป็นผลงานของ “คุณตาผุด นามมั่น” อายุ 82 ปี ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวบ้านม่วงงาม หมู่ 2 ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยคุณตาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทีมงานผู้จัดละครได้จ้างให้ทำตุ๊กตาลูกตาล 1 ตัว เพื่อนำไปเข้าฉาก คุณตาเลยนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นอย่างเมล็ดลูกตาลแห้ง หรือที่เรียกว่า “กระดองตาล” มาประกอบกับเศษวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เช่น จั่นมะพร้าว แล้วนำมายึดติดด้วยกาวร้อน ก่อนที่ทีมงานจะจับน้องมาแต่งตัวจนกลายเป็น “น้องรำพึง” อย่างที่เห็นกัน

จุดเริ่มต้นของภูมิปัญญานี้มาจากคำแนะนำของอดีตนายก อบต.ถ้ำรงค์ ที่ต้องการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ผลิตและพัฒนาเป็นอาชีพ คุณตาผุดเลยสนใจและเห็นว่าในท้องถิ่นมีเมล็ดตาลที่ผ่านการยีโตนดเป็นจำนวนมาก จะทิ้งไปก็เปล่าประโยชน์ จึงนำมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาและของตกแต่งเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ตามจินตนาการ

ใครที่สนใจอยากอุดหนุนภูมิปัญญาไทยสามารถเข้าไปเลือกซื้อได้ที่บ้านของคุณตาเลยค่ะ โดยตั้งอยู่ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ใกล้ๆ กับวัดม่วงงาม หมู่ 2 ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี (แอบกระซิบว่านอกจากตุ๊กตากระดองตาลแล้วยังมีเครื่องจักสานใบตาล ฝีมือคุณยายทองใบ ภรรยาของคุณตาด้วยนะคะ)

SOURCE : chudapha

กดติดตาม ADD Line @UndubZapp

 

Advertisements

Advertisements

Advertisements