7 อันดับ เมนูเสริมภูมิคุ้มกัน ฉบับอาหารไทย ทานแล้วดีต่อร่างกาย

อาหารเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของการมีสุขภาพดี หากแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของประชากรในปัจจุบันนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งโรคหลายๆ โรคก็มีที่มาจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินเป็นหลัก

 

UndubZapp จึงอยากชวนพ่อแม่พี่น้องทุกท่านมาลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ด้วยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ แล้วหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในด้านเสริมภูมิคุ้มกัน สำหรับอาหารที่เราอยากแนะนำให้ทุกท่านทานวันนี้ เป็นเมนูเพื่อสุขภาพซึ่งอยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน รับประทานแล้วได้สารอาหารครบ 4 หมู่ ถ้าทานผลไม้เพิ่มด้วยก็จะได้ครบ 5 หมู่พอดี เมนูอาหารที่เราพูดถึงจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ!

 

 

1.เต้าหู้ทรงเครื่อง

ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอย่างเต้าหู้ เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งมีสรรพคุณเด่นด้านเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาว ป้องกันการติดเชื้อ เสริมการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน เป็นเมนูอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง

 

นอกจากนี้ เต้าหู้ยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นถึง 8 ชนิด จึงมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาท เพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกัน ลดไขมัน มีสารไฟโตเอสโตรเจน อันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนวัยทอง ช่วยชะลอภาวะหมดประจำเดือน ลดเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้

 

2.ยำมะระกุ้งสด

มะระ ผักรสขมที่มีฤทธิ์เป็นยารักษาโรค มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถป้องกันและบรรเทาอาการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกายได้ดี และมีวิตามินซี ซึ่งมีประสิทธิภาพในการปกป้องเซลล์กับเนื้อเยื่อ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลายชนิด

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือมีโฟเลต ซึ่งช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสตรี ช่วยกระตุ้นการผลิตกรดไฮโดรครอลิก เพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษ ช่วยให้ตับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าจะให้ดี ควรเปลี่ยนการใช้น้ำปลาเป็นซีอิ๊วขาวเสริมไอโอดีน

 

3.ต้มเลือดหมู

เลือดหมู ตับหมู และเครื่องในสัตว์ เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง การขาดธาตุเหล็กจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ร่างกายไวต่อการติดเชื้อ เนื่องจากไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง

 

เพราะกระบวนการฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดงด้อยประสิทธิภาพ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก การเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกายจะช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาว ป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ควรลดปริมาณซีอิ๊วขาวในต้มเลือดหมู ลดการกินเค็มเสริมสุขภาพอีกทาง

 

4.ฟักทองผัดไข่

ฟักทองเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไขมันน้อย น้ำตาลน้อย ให้พลังงานต่ำ ทานแล้วทำให้อิ่มนาน ช่วยลดความอยากอาหาร เหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะกากใยอาหารในฟักทองช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น

 

ในฟักทองมีสารเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินอี และแร่ธาตุสำคัญอีกหลายชนิด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ลดเสี่ยงการเกิดโรคทางตา ที่สำคัญ ฟักทองมีคอลลาเจนตามธรรมชาติ ช่วยบำรุงผิวพรรณได้ด้วย

Advertisements

 

5.แกงเลียง

ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของแกงเลียงเป็นผักหลากหลายประเภท การรับประทานแกงเลียงจึงช่วยให้ร่างกายได้รับคุณประโยชน์จากผักนานาพันธุ์ ซึ่งให้ใยอาหารสูง อันจะช่วยต้านการอักเสบภายในร่างกาย ทำให้ขับถ่ายคล่อง ไม่มีของเสียตกค้างในลำไส้

 

แม้แต่ส่วนผสมของเครื่องแกงเลียงก็มีประโยชน์เช่นกัน เช่น พริกไทย ช่วยย่อยอาหาร หอมแดง ช่วยขับลม ใบแมงลัก ช่วยขับเหงื่อ อย่างไรก็ดี การรับประทานแกงเลียงให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรลดปริมาณกะปิ และใช้น้ำปลาเสริมไอโอดีนในส่วนประกอบ

 

6.แกงส้มผักรวม

เมนูแกงส้มผักรวมนับว่าเป็นอาหารชูสุขภาพที่ทำให้ร่างกายได้รับวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และสรรพคุณทางพฤกษเคมีจากผักหลายชนิด การรับประทานแกงส้มให้ได้ผลดีอย่างเต็มที่ ควรลดความเค็มของแกงส้มโดยลดปริมาณเกลือในน้ำพริกแกง

 

ประโยชน์จากผักรวม ได้แก่ ผักกระเฉด มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุลธาตุในร่างกาย มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคตับอักเสบ ดอกแค ช่วยให้การขับถ่ายของร่างกายเป็นไปโดยปกติ พร้อมบรรเทาอาการอักเสบภายในร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

 

7.ยำมะเขือยาว

ไม้ล้มลุกหาทานง่ายดังเช่นมะเขือยาวมีสรรพคุณดีๆ นานัปการ มีทั้งวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง สามารถยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้ได้ดี

 

เมนูยำมะเขือยาวจัดว่าเป็นเมนูที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดไขมันในร่างกายด้วย เนื่องจากมะเขือยาวมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย ช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน บำรุงกระดูกและฟัน ต่อต้านอนุมูลอิสระได้ชะงัด

 

 

 

 

 

 

 

©Resource : สํานักโภชนาการ กรมอนามัย

©Featured image : freepik

Advertisements

Advertisements

Advertisements