สื่อสารอย่างสันติ!! 5 มารยาทในการแสดงความคิดเห็น ลดความขัดแย้งภายในองค์กร

การแสดงความคิดเห็น คือ การพูดข้อเท็จจริงในเชิงอธิบายแนวความคิด หลักการ ข้อวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ ข้อสันนิษฐาน หรือเหตุผล เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้อื่น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปคิดวิเคราะห์ หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากรต่อไป

 

แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ภายในที่ทำงานจะเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี แต่ก็มิใช่ว่าจะแสดงความคิดเห็นสุ่มสี่สุ่มห้าได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงมารยาทในการแสดงความคิดเห็นด้วย

©pixels.com

UndubZapp ขอแนะ 5 มารยาทขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ภายในองค์กร ตามหลักการสื่อสารอย่างสันติ เพื่อให้เพื่อนๆ รวมถึงเหล่าน้องใหม่ในบริษัท นำไปใช้ในการแสดงความคิดเห็นระหว่างการให้สัมภาษณ์ การประชุม การสัมมนา การอภิปราย การบรรยาย รวมถึงการเขียนแสดงความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อองค์กรได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

มารยาทในการพูดแสดงความคิดเห็น

  1. ภาษาในการพูดแสดงความคิดเห็นต้องเป็นคำที่ถูกต้องตามกาลเทศะ ควรใช้ถ้อยคำที่มีความหมายชัดเจน ตรงประเด็นตามที่ผู้พูดต้องการสื่อ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ไม่ควรใช้คำกำกวม คําสองแง่สองง่าม ซึ่งอาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
  2. ควบคุมกิริยาท่าทางและอารมณ์ขณะพูดเสมอ พยายามแสดงออกถึงความสุภาพนอบน้อม ไม่วางท่าทียกตนข่มท่าน ไม่แสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ต้องถ่อมตนจนถึงขั้นเหมือนคนไม่รู้เรื่องรู้ราว ควรใช้น้ำเสียงโทนสุภาพเรียบร้อย แต่ไม่จำเป็นต้องดัดเสียงจนไม่เป็นตัวของตัวเอง และไม่ต้องรีบพูดจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้ฟังรับสารผิดพลาดได้
  3. ผู้พูดต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดแสดงความคิดเห็นอย่างถ่องแท้ อาจนำข้อมูลหรือหลักฐานที่สมเหตุสมผลมาใช้ประกอบในการแสดงความคิดเห็น เพื่อแสดงให้ผู้ฟังประจักษ์ว่าข้อมูลที่ผู้พูดกล่าวถึงเป็นเรื่องจริง มิใช่ข้อมูลเท็จด้วยก็ได้
  4. การแสดงความคิดเห็นต้องยึดเหตุผลเป็นสำคัญ ปราศจากอคติหรือความลำเอียง ไม่พูดเพื่อเอาชนะ ดูถูก ข่มขู่ พูดด้วยความคึกคะนอง หรือพาดพิงผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย หัวข้อในการแสดงความคิดเห็นควรเรียงลำดับ ดังนี้

 

Advertisements

สาระสำคัญ → จุดประสงค์ → ข้อเท็จจริง → ความคิดเห็น

 

  1. เคารพกฎกติกา มติ และเวลาของสถานที่นั้นๆ ใช้เวลาแสดงความคิดเห็นอย่างพอเหมาะพอควร อย่าผูกขาดเวลาไว้เพียงคนเดียว ควรเผื่อเวลาให้ผู้อื่นได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นด้วย

©pixels.com

 

 

มารยาทในการเขียนแสดงความคิดเห็น

  1. ภาษาในการเขียนแสดงความคิดเห็นต้องเป็นคำที่เหมาะแก่กาลเทศะ เขียนด้วยลายมือที่เห็นได้ชัดเจน อ่านออกง่าย ไม่เขียนหวัด เขียนตัวใหญ่ หรือเขียนตัวเล็กจนเกินไป ไม่ใช้คำแสลง รวมถึงคำที่รู้ความหมายเฉพาะภายในกลุ่ม ป้องกันไม่ให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิด
  2. เรียบเรียงความคิดเห็นเป็น mind map ในจินตภาพให้เป็นลำดับต่อเนื่อง ก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียนแสดงความคิดเห็นลงไปในหน้ากระดาษจริงๆ เพื่อให้ความคิดเห็นไม่ออกนอกประเด็น ผู้อ่านจะได้สามารถทำความเข้าใจตามลำดับขั้นตอนได้โดยง่าย
  3. การเขียนแสดงความคิดเห็นที่ดี ควรมีการเรียงลำดับ ดังนี้

 

  • ที่มา ความจำเป็น หรือปัจจัยที่ทำให้ผู้เขียนต้องการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าว
  • ข้อเท็จจริง ข้อสนับสนุน หรือหลักการที่นำมาใช้เป็นเหตุผลในการแสดงความคิดเห็น
  • ข้อสรุป ข้อเสนอแนะ ข้อสันนิษฐาน หรือการประเมินผล ให้ผู้อ่านนำไปใช้พิจารณาในการแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาในภายภาคหน้า

 

  1. ผู้เขียนต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนแสดงความคิดเห็นโดยแท้จริง ห้ามนำข้อมูลเท็จ ข่าวโคมลอย หรือแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงโดยเด็ดขาด เนื่องจากความคิดเห็นดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อพิพาท และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้
  2. คำนึงถึงประโยชน์ของการแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ กล่าวคือ การแสดงความคิดเห็นต้องเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลดี มีประโยชน์ ไม่ส่งผลในเชิงลบ หรือสร้างความเสื่อมเสีย ฉะนั้น ไม่ควรเขียนแสดงความคิดเห็นจากความชอบส่วนตัว ความลำเอียง และอคติโดยเด็ดขาด

 

Featured image ©pixels.com

Advertisements

Advertisements

Advertisements