หยุด Hate Speech ในโลกออนไลน์! 3 แนวทางใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์

ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนในสังคมสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เรียกว่า “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนได้ทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเรานานาสารพัน แต่ทุกสิ่งบนโลกนี้ก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน คือ มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโซเชียลมีเดียถูกนำมาใช้ในการเผยแพร่ Hate Speech หรือ วาจาที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งมิได้จำกัดในรูปแบบของถ้อยคำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพถ่าย คลิปวีดีโอ การ์ตูนล้อเลียน หรือคำคมเสียดสีต่างๆ ด้วย ส่วนมากแล้ว เจตนาของ Hate Speech คือการแสดงความเกลียดชังต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างชัดเจน เพื่อแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ขจัดกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอุดมการณ์เดียวกันออกไป นำมาซึ่งความขัดแย้งต่างๆ นานา

©unsplash.com

ฉะนั้น เราทุกคนจึงควรนำข้อดีของโซเชียลมีเดียมาใช้ในทางที่ถูกที่ควร เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมออนไลน์ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง 3 ข้อควรทำในการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน หยุด Hate Speech ในโลกออนไลน์ #Saveตัวเอง จากโพสต์บั่นทอนจิตใจต่างๆ มาร่วมมือร่วมใจกันทำให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคนในสังคมกันเถอะค่ะ

 

 

 

1.ไม่ระบายอารมณ์ในโซเชียลมีเดีย

ข้อดีของโซเชียลมีเดียคือการที่เราทุกคนสามารถสื่อสารกับบุคคลที่ต้องการ และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของอีกฝ่ายได้โดยง่าย แต่การที่ข้อมูลต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้นก็ถือเป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากกิจกรรมในโลกโซเชียลมีเดียของเราจะถูกบันทึกไว้เสมอ แม้ว่าเวลาจะผันผ่านไปกี่สิบปีก็ตาม การที่เราโพสต์ทุกสิ่งอย่างตามใจก็จะถูกบันทึกเอาไว้เช่นกัน นั่นรวมถึงการดราม่าไปตามกระแสด้วยความคึกคะนอง การตั้งฉายาเหน็บแหนมคนดัง หรือกระทั่งการตำหนิบุคลากรในองค์กรด้วยคำพูดรุนแรงก็ด้วย

©unsplash.com

จริงอยู่ว่าการระบายอารมณ์ในพื้นที่ส่วนตัวเป็นสิทธิของเรา แต่เราทุกคนต้องไม่ลืมว่า โซเชียลมีเดียมิใช่พื้นที่สาธารณะโดยแท้จริง เราอาจตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างแน่นหนา แต่เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าคนที่เราแชร์ข้อมูลสำคัญด้วยจะส่งต่อข้อมูลของเราให้บุคคลอื่นรับรู้หรือไม่ และถ้าเหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นจริง ผลเสียของการโพสต์โดยปราศจากการยั้งคิด ก็อาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่มีคนสมัครงานแต่ไม่ได้งาน เพราะบริษัทเห็นข้อความเชิงลบต่อบริษัทของผู้สมัครที่เคยโพสต์ลงในโซเชียมีเดียเสียก่อน อีกกรณีก็คือการที่หลายๆ คนเกิดบาดหมางกัน เพราะตีความโพสต์ระบายอารมณ์ในโซเชียลมีเดียของอีกฝ่ายผิด กลายเป็นว่าเกิดสงครามโต้วาทีในโลกแห่งความเป็นจริงขึ้น

 

ฉะนั้น การคิดก่อนโพสต์จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำเป็นนิจ คิดถึงผลดี-ผลเสียก่อนโพสต์ ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรโพสต์ระบายอารมณ์ในโซเชียลมีเดียจะดีที่สุด ลดความเสี่ยงในการรับสารผิดของผู้พบเห็น ลดความเสี่ยง Hate Speech ที่อาจเกิดขึ้นอีกทาง

 

 

Advertisements

2.เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

ปัญหาอีกประการที่ก่อให้เกิด Hate Speech ในโซเชียลมีเดีย คือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งรูปแบบการละเมิดนั้นก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การนำภาพของผู้อื่นมาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ โพสต์ถ้อยคำเชิงลบ โดยมีเจตนาก่อให้เกิดความไม่สงบ การแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำหยาบคายไม่มีแก่นสาร หรือการเหน็บแหนมคนที่มีความเห็นต่างจากตน โดยใช้ถ้อยคำรุนแรง ซึ่งการแสดงออกด้วยวิธีดังกล่าวถือเป็นประทุษวาจาทั้งสิ้น มิใช่การแสดงออกถึงความมีวุฒิภาวะแต่อย่างใด

 

หยุด Hate Speech ให้ตรงจุด ด้วยการเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น หันมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทางที่ถูกที่ควร สร้างเกราะความอดทนต่อสิ่งต่างๆ ให้มากๆ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าเราไม่สามารถพูดด้านลบถึงสิ่งใดได้ กล่าวคือ เราสามารถว่ากล่าว ติติง หรือตักเตือนผู้อื่นได้ตามปกติ เพียงแต่ควรลดระดับความรุนแรงของคำพูด คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้อื่นเป็นสำคัญ ฉะนั้น สารที่เราสื่อออกมาจะต้องไม่ก่ออันตรายให้กับผู้อื่น ไม่สร้างความร้าวฉานให้กับสังคม

©unsplash.com

นอกเหนือไปจากนี้ การโพสต์ชักชวนหรือบังคับเพื่อให้ผู้อื่นแสดงความเห็นชอบกับเรา ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเช่นกัน แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนใกล้ชิดของคุณก็ตาม แต่คุณก็ควรเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย  หากทุกคนพร้อมใจเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ลดการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันได้เช่นนี้ ก็จะช่วยลดปัญหาความแตกแยกในสังคมออนไลน์ได้อีกมาก

 

 

 

3.เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อกระแสหลักนั้น เราทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายข่าวสารได้อย่างง่ายดาย หากมองในด้านดีก็ถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้กับผู้คนมากขึ้น มีตัวเลือกรับสื่อให้เลือกมากกว่าเดิม หากมองในด้านลบก็ถือว่าเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีกุข่าวลือและส่งต่อข่าวเท็จได้โดยง่าย ดังนั้น เราทุกคนจึงควรเช็กข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนการแชร์โพสต์และสื่อต่างๆ ทุกครั้ง ใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสารต่างๆ ให้ดีว่าการแชร์สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ป้องกันการกระจายของ Fake News  ซึ่งอาจขยายความเกลียดชัง และสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นภายหลัง

©unsplash.com

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้ที่โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยเหตุกระทบกระทั่งกันจาก Hate Speech ส่วนหนึ่งนั้นก็เกิดจากการแชร์ลิงค์ข้อมูลที่บิดเบือนความเป็นจริง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่เห็นต่าง ดังนั้น อย่าลืมเช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ พึงระลึกไว้เสมอว่าการแชร์ข้อมูลเท็จ อาจเข้าข่ายการทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเสี่ยงต่อการถูกปรับ-ถูกจับได้เช่นกัน

 

หากว่าเราทุกคนสามารถปฏิบัติตนตาม 3 ขั้นตอนง่ายๆ นี้ได้เป็นประจำ การทะเลาะเบาะแว้งผ่านโซเชียมีเดีย และ Hate Speech ในโลกออนไลน์ก็จะลดลงเรื่อยๆ และโซเชียลมีเดียก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สร้างความสบายใจให้กับเราทุกคนในที่สุด

 

Featured image @pexels.com

Advertisements

Advertisements

Advertisements